วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เอื้องกระเจี้ยง



เอื้องกระเจี้ยง

ชื่อสามัญ : เอื้องกระเจี้ยง
ชื่อท้องถิ่น : เอื้องศรีเที่ยง เอื้องกว่าง
รูปร่าง/ลักษณะ : กล้วยไม้อิงอาศัย สูง 12-15 ซม. ลำลูกกล้วย รูปไข่ 
เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-3 ซม.
 ใบ รูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 3-4 ซม. ยาว 8-12 ซม. จำนวน 2 ใบ ต่อลำลูกกล้วย ดอก 
ออกเดี่ยวที่ปลายยอด 
กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเหลืองอ่อน มีประสีน้ำตาลเข้มทั่วกลีบ กลีบปากสีม่วงแกมน้ำตาลเข้ม เกือบดำ
 ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-6 ซม. พบตามป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 1,200-1,500 เมตร 
ทางภาคเหนือ
 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกดอกช่วง เดือนตุลาคม-มกราคม
แหล่งที่พบ : อินเดีย เนปาล เมียนม่าร์ และไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Epigeneium amplum (Lindl.) Summerh 
ชื่อท้องถิ่น : เอื้องศรีเที่ยง เอื้องกว่าง
ชื่อสามัญ : เอื้องกระเจี้ยง
วงศ์ : ORCHIDACEAE
สกุล : Epigeneium
ชนิด : amplu

คุณสมบัติ/ลักษณะของตัวอย่าง : กล้วยไม้อิงอาศัย สูง 12-15 ซม. ลำลูกกล้วย
 รูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-3 ซม.
 ใบ รูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 3-4 ซม. ยาว 8-12 ซม.
 จำนวน 2 ใบ ต่อลำลูกกล้วย ดอก ออกเดี่ยวที่ปลายยอด กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเหลืองอ่อน
 มีประสีน้ำตาลเข้มทั่วกลีบ 
กลีบปากสีม่วงแกมน้ำตาลเข้ม เกือบดำ ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-6 ซม.
 พบตามป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 1,200-1,500 เมตร ทางภาคเหนือ และ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกดอกช่วง 
เดือนตุลาคม-มกราคม


































กล้วยไม้ ฟ้ามุ้ย


ฟ้ามุ้ย

ภาพเอื้องฟ้ามุ่ยของคุณหนูนา แห่ง Thailand Wilderness Study
............................................
กล้วยไม้ป่าไทยพบได้ทั่วไปในแหล่งธรรมชาติ จากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีถึง 168 สกุล รวม 1,170 ชนิด กระจายอยู่ในป่าเขตร้อนทั่วทุกภาค ก่อให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมอย่างสูง ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยเราจึงกลายเป็นตลาดกล้วยไม้ที่สำคัญของเอเชียและของโลก จนกลายเป็นพืชส่งออกที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ นำเงินตราเข้าประเทศปีละมากกว่า 1,000 ล้านบาท
         กล้วยไม้ป่าไทย เป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งในด้านสี ความมันวาวของกลีบดอก ทรงดอก และที่สำคัญคือ กลิ่นที่มีความหอมละมุน ที่สำคัญมีลักษณะการบานทนมาก บางพันธุ์ดอกบานนานเป็นเดือน เช่น เอื้องผึ้ง บางพันธุ์ออกดอกตลอดทั้งปี เช่น เขากวางอ่อน จึงเป็นที่ต้องการของตลาดในและต่างประเทศอย่างมาก
        ปัญหาที่ประสบในปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หลาย ๆ สกุล โดยเฉพาะ ฟ้ามุ่ย อันเนื่องมาจากการลักลอบขโมยกล้วยไม้จากป่าธรรมชาติ แม้จะมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ และมีข่าวการจับกุมผู้ลักลอบโจรกรรมกล้วยไม้ออกจากป่าค่อนข้างบ่อยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ภาพกล้วยไม้ทั้งหมดผมถ่ายจากสวนผึ้ง ออร์คิด จ.ราชบุรีครับ
ทั้งหมดเป็นแวนดาบลู ที่ปรับปรุงพันธุ์มาจากฟ้ามุ่ย
       แต่เท่าที่ทราบจากแหล่งข่าวในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ยังคงมีนายทุนใช้อำนาจเงินตราสั่งให้คนทองถิ่นเข้าไปขุดกล้วยไม้ป่าพันธุ์หายาก

    ปัญหานี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 40-50 ปีก่อนแล้ว ปัจจุบันก็ยังแก้ไขไม่ได้
     จากสถิติการจับกุมผู้ลักลอบค้ากล้วยไม้ป่า ของสำนักงานป้องกันและปราบปราม กรมป่าไม้ พบว่า ตั้งแต่ปี 2540-2545 สามารถยึดพืชป่าสงวนได้ถึง 309,695 ต้น โดยเฉพาะในปี 2545 มีจำนวนมากถึง 120,000 ต้น อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา สถิติการจับกุมพืชป่าลดลง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้และตำรวจกวดขันอย่างหนัก แต่ผมมองว่า สถิติการจับกุมที่น้อยลงอาจเป็นเพราะมีกล้วยไม้ป่าหลงเหลืออยู่อีกไม่มากนักมากกว่า
แวนด้าลูกผสม ฟอร์มดอกใหญ่และสีสดมาก
        ที่จะหาง่าย ๆ เหมือนเมื่อก่อนก็คงไม่มีหวังแล้ว บางทีเดินป่าเป็นวันก็ไม่เห็นกล้วยไม้ป่าก็มี น่าเศร้าใจจริง ๆ
      เมื่อกล้วยไม้ป่าในประเทศกำลังใกล้หมดป่า ก็มีสินค้าใหม่มาขายจากป่าในประเทศลาวและพม่า โดยแหล่งซื้อขายใหญ่มีทั้งหมด 3 แห่ง คือ ด่านแม่สอดชายแดน จ.ตาก ด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี และด่านสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี (ฆาตกรรมกล้วยไม้ป่าในประเทศยังไม่หนำใจ ยังไปฆ่าตัดตอนกล้วยไม้ป่าประเทศเพื่อนบ้านอีก )
    สำหรับมือสมัครเล่นที่เลี้ยงกล้วยไม้มา 15 ปีอย่างผม มองเห็นปัญหานี้มาตลอด สาเหตุที่คนซื้อกล้วยไม้ป่าก็เพราะราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่ากำลังทำผิดกฎหมาย ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่า อีกทั้งกล้วยไม้ป่าที่นำมาเลี้ยงก็บอบช้ำจากการขนส่งเต็มที หลาย ๆ ต้นต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะฟื้นตัว ใช้เวลาหลายปีกว่าจะออกดอก แถมบางต้นต้องตายไปเพราะไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ
     หากเจ้าหน้าที่จับกุมได้ก็ส่งไปไว้ที่เก็บพืชป่าของกลาง ปลูกได้ไม่นานก็ตายเหมือนกัน
    ความสวยงามที่สร้างสรรค์โลกใบนี้ กลับนำมาซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิต... หรือนี่คือสัจจธรรม
แวนด้าลูกผสม
ลูกผสมสกุลแวนด้า+สกุลเข็ม
      ผมเองเคยตั้งคำถามกับนักวิชาการด้านการเกษตรหลายท่านว่า ทำไมเราถึงไม่ปรับปรุงสายพันธุ์กล้วยไม้ป่าที่หายากให้เลี้ยงง่าย ทนทาน และออกดอกเก่ง เป็นการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้ที่มีสายเลือดของกล้วยไม้ไทยเพื่อผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมาก ผมเชื่อว่า คนไทยจะให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะการใช้ประโยชน์จากกล้วยไม้ป่า
     ในการปรับปรุงพันธุ์ที่ผ่านมานั้นพบว่าสามารถทำได้ดี ลูกผสมที่ได้มีลักษณะที่เด่นกว่าพ่อแม่ ในแง่ของการมีทรงดอก สี และความหอม รวมทั้งอายุการบานที่นานมากขึ้นมาก เช่น กล้วยไม้สกุลช้าง สกุลหวาย สกุลเข็ม และสกุลแวนด้า
     ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรามีกฎหมายห้ามซื้อขายกล้วยไม้ป่าเด็ดขาดเพราะใกล้สูญพันธุ์ แต่ไม่รู้เชียวหรือครับว่า กล้วยไม้หายากบางสกุลที่ถูกลักลอบไปขายยังต่างประเทศ มีการนำไปปรับปรุงสายพันธุ์ใหม่ ผสมพันธุ์ใหม่ แล้วนำกลับเข้ามาขายยังตลาดประเทศไทยอีกครั้ง
   ไม่รู้จริง ๆ หรือครับ หรือมันเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดถึงกัน
ทั้ง 2 ภาพเป็นแวนด้าลุกผสมอีกเช่นกัน
       น่าแปลกที่กฎหมายอนุญาตให้มีการเพาะพันธุ์กล้วยไม้เมือง (คำเรียกกล้วยไม้ป่าที่ถูกนำมาเลี้ยงในเมืองนาน ๆ จนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้) ขายได้ ในลักษณะที่เรียกว่าการปั่นตา ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย กล้วยไม้ป่าที่เรา ๆ ท่าน ๆ เห็นออกดอกสวยงาม ขายอยู่ในตลาดจตุจักรหรือตามรังกล้วยไม้นั้น เป็นกล้วยไม้เมืองทั้งสิ้น
      (การปั่นตา คือการการเพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม้ นำส่วนของเนื้อเยื่อจากส่วนต่าง ๆ เช่น ตายอด ตาช้าง ปลายใบอ่อน มาเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ ในสภาพปลอดเชื้อ โดยมีการควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์วิธีนี้เรียกว่า mericlone แปลว่าต้นพันธุ์ใหม่ ผลจากการขยายพันธุ์วิธีนี้อาจจะมีโอกาสกลายพันธุ์ไปในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงได้ แต่ก็พบได้ยาก)
     ในการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (ไซเตส)* ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทย เมื่อปี 2547 ประเทศไทยมีการขอปรับ "กล้วยไม้ฟ้ามุ่ย" จากบัญชีหมายเลข 1 ไปอยู่บัญชีหมายเลข 2 เนื่องจากเพาะพันธุ์ได้มาก
      สาเหตุที่เสนอให้ลดบัญชีกล้วยไม้ป่าฟ้ามุ่ย จากบัญชี 1 เป็นบัญชี 2 เนื่องจากปัจจุบันกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยสามารถผสมเทียมได้สายพันธุ์ที่สวยงามกว่าพันธุ์เดิม ทั้งยังนำไปผสมกับสายพันธุ์อื่นกลายเป็นกล้วยไม้ลูกผสม ซึ่งถือเป็นดอกไม้เศรษฐกิจของไทย จึงควรยกเลิกการสงวน
      อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สร้างความกังวลให้หลายท่าน เนื่องจากเกรงจะทำให้กล้วยไม้ป่าถูกนำมาอ้างว่าเป็นกล้วยไม้ลูกผสม แล้วส่งขายให้ตลาดทั่วโลก
     สำหรับกล้วยไม้ลูกผสม (Orchid Coerulea) คณะกรรมาธิการด้านพืชของไซเตส ได้อนุมัติให้ยกกล้วยไม้ลูกผสมออกจากบัญชีที่ 2 โดยมีเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ ทั้งนี้ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่ากล้วยไม้ลูกผสมที่ทำการค้าขายต้องเป็นกล้วยไม้ที่ขยายพันธุ์เทียม ไม่มีลักษณะป่าให้เห็น การส่งออกต้องมีเอกสารแนบท้าย โดยต้องแจ้งชื่อกล้วยไม้ลูกผสม (ชื่อทางการค้า) และรับรองโดยผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้า
     กล้วยไม้ลูกผสม แต่ละพันธุ์ส่วนใหญ่จะมีสภาพไม่สมบูรณ์ สภาพการปลูกและเลี้ยงได้มาจากการเพาะพันธุ์เทียม ไม่มีลักษณะกล้วยไม้ป่าให้เห็น แตกต่างจากกล้วยไม้พันธุ์แท้ เมื่อมีดอกให้เห็นในกรณีที่ไม่มีดอกหรือต้นขนาดเล็ก จะต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ ในการจำแนกความแตกต่าง
       การที่ข้อเสนอที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะที่ประชุมส่วนใหญ่วิตกกังวลว่า ขณะนี้มีหลายประเทศผสมเทียมกล้วยไม้เพื่อค้าขายกันอย่างแพร่หลาย แต่ข้อเสนอของแต่ละประเทศยังไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้
       ไซเตสมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการลักลอบค้าขายในอนาคต โดยเฉพาะกรณียังไม่มีสิ่งบ่งชี้ที่ชัดเจนว่ากล้วยไม้ชนิดนั้นๆ มาจากแหล่งธรรมชาติ หรือ เป็นการเพาะพันธุ์
       อย่างไรก็ตามในที่สุด คณะกรรมาธิการก็เห็นชอบให้ยกกล้วยไม้ลูกผสมสกุลหวาย ฟาแลนนอปซิส แวนด้า และซิมบิเดียม ออกจากบัญชี 2 การส่งออกไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20 ต้น โดยมีลักษณะบ่งบอกชัดเจนว่า เป็นกล้วยไม้ลูกผสม เช่น ขนาดต้นสม่ำเสมอ ไม่มีดอก ต้นสะอาด ไม่มีแมลงกัดแทะ และบรรจุในกล่องหรือภาชนะอย่างเรียบร้อย
     นักวิชการด้านการเกษตรหลายคนยังเชื่อว่า แม้จะมีการปรับปรุงกล้วยไม้ป่าเลือดแท้ มาเป็นกล้วยไม้เมือง หรือกล้วยไม้ลูกผสม แต่ปัญหาการซื้อ-ขายกล้วยไม้ป่าผิดกฎหมายก็คงยังไม่หมดสิ้นไป เพราะนักเลงกล้วยไม้ยึดติดกับ"คุณค่า" ของกล้วยป่า ของแท้นั้นย่อมมีราคาแพงกว่าของเทียม 
ลูกผสมเข็มแสดที่ผ่านการปรับปรุงสายพันธุ์แล้ว
        เมื่อแต่ละฝ่ายต่างงัดเอาข้อดีและข้อเสียของมาโต้กัน โดยไม่มีคนกลางเข้ามาชี้ขาดว่า ทฤษฎีของใครดีกว่ากัน   มือสมัครเล่นที่อยู่วงนอกอย่างผมก็เลยได้แต่นั่งมองกล้วยไม้ป่าไทยถูกฆ่าตัดตอนต่อหน้าต่อตาต่อไป

       ผมจึงสรุปเอาเองว่า วิธีการอนุรักษ์กล้วยไม้ป่าที่ดีที่สุด คือ นับจากนี้ไป คนรักกล้วยไม้ป่าทั้งหลายต้องผนึกกำลังทำงานกันอย่างเข้มข้นในเรื่องการปลูกฝังให้เยาวชนไทยตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของกล้วยไม้ป่า รณรงค์ให้ความรู้ภาคประชาชนให้รักหวงแหนกล้วยไม้ป่า ต้องไม่ซื้อไม้ป่ามาเลี้ยง อย่าให้ถึงกับสูญพันธุ์ไปเหมือนสัตว์บางชนิดเลยครับ
     แม้จะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ได้ผลในระยะสั้น แต่ผมเชื่อว่าในระยะยาว กล้วยไม้ป่าจะกลับมาโชว์ความงดงามอย่างดกดื่นในป่าไทยเราอีกครั้งหนึ่งครับ
     *** ชมภาพกล้วยไม้ถ้าจะให้เพลินตาเพลินใจ ต้องเปิดเพลงสวยจริง ๆ  ของครูสุรพล สมบัติเจริญ ไปด้วยครับ
55
..........................................................
เอื้องฟ้ามุ่ยเลือดแท้ ภาพจากบล็อกคุณ รัตติกาลแห่งราตรี 
ขอขอบคุณครับ
     เอื้องฟ้ามุ่ย (Vanda ceorulea) เป็นพืชในวงศ์กล้วยไม้สกุลแวนด้า มีดอกสีฟ้า สีขาว สีชมพูอ่อน ฟ้ามุ่ยถูกขึ้นบัญชี 1ตามอนุสัญญาไซเตสตั้งแต่ปี 2522 ถือเป็นพืชป่าห้ามซื้อขาย ยกเว้นเพื่อศึกษาและวิจัย แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้สามารถผสมเทียมฟ้ามุ่ยลูกผสมขายได้นานแล้ว ต้นฟ้ามุ่ยป่าจึงไม่ควรจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อีกต่อไป ต่อมาไทยได้เสนอให้ลดบัญชีกล้วยไม้ป่าฟ้ามุ่ย จากบัญชี 1 เป็นบัญชี 2
     ลักษณะ : รากขนาดใหญ่มาก ลำต้นยาว ใบรูปแถบ ขนาด 3x10 ซม. ปลายใบหยักหนามช่อดอกทอดเอียง ก้านช่อยาวกว่าแกนช่อ ดอกขนาด 4.5 ซม.กลีบเลี้ยงรูปรีกว้างแถมรูปไข่กลับ กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ทั้งห้ากลีบสีฟ้า มีลายคล้ายลายหินอ่อน(ลายมุก) ปลายกลีบมน ขอบกลีบบิดเป็นคลื่น กลีบปากรูปแถบ อวบและหนา สีฟ้าเข้ม ปลายกีบเว้าตื้น แผ่นกลีบมีสันเตี้ย ๆ 3 สัน มีเดือยดอกขนาดใหญ่รูปกรวย เส้าเกสรอ้วนสั้น
    เขตกระจายพันธุ์ : พบในอินเดีย พม่า จีน และไทย โดยเฉพาะบริเวณ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่
ถิ่นอาศัย กล้วยไม้อิงอาศัย พบในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ตามที่โล่งแจ้งแสงแดดจัด
    ฤดูออกดอก : กรกฎาคมถึงธันวาคม
    สถานภาพ : ปลูกเลี้ยงอย่างแพร่หลาย มีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อประโยชน์ทางการค้า ในธรรมชาติมีจำนวนค่อนข้างน้อย พบเพียงบางพื้นที่ และใกล้สูญพันธุ์
....................................................

หมายเหตุ : (*) บัญชีที่ 1 ของไซเตส หมายถึง ชนิดพันธุ์ที่ได้มาจากป่า หรือ เป็นของป่าและใกล้จะสูญพันธุ์ จึงห้ามทำการค้าขายโดยเด็ดขาด ยกเว้นกรณีที่ได้จากการขยายพันธุ์เทียม หรือ เพาะพันธุ์ ได้จากการศึกษาและวิจัย การนำเข้าและส่งออกซึ่งชนิดพันธุ์ในบัญชีนี้ จะต้องคำนึงถึงความอยู่รอด ผลกระทบต่อจำนวนประชากรในธรรมชาติเป็นสำคัญ การส่งออกจะต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศผู้นำเข้าเสียก่อน ตัวอย่างพันธุ์ในบัญชีได้แก่ กล้วยไม้รองเท้านารี และ ช้างเอเซีย เป็นต้น
บัญชีที่ 2 หมายถึง ชนิดพันธุ์ที่เหลืออยู่ค่อนข้างน้อย แต่ยังไม่ใกล้สูญพันธุ์ สามารถ
ทำการค้าชนิดพันธุ์ที่ได้มาจากป่า แต่ต้องไม่เป็นการละเมิดกฎหมายภายในประเทศ ตัวอย่างชนิดพันธุ์ เช่น ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง เป็นต้น
บัญชีที่ 3 หมายถึง ชนิดพันธุ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประ
เทศหนึ่ง แล้วขอความช่วยเหลือจากประเทศภาคี ให้ช่วยควบคุมการค้าชนิดพันธุ์นั้นด้วย ตัวอย่างเช่น มะเมื่อย จากประเทศเนปาล และนกขุนทอง จากประเทศไทย เป็นต้น
แหล่มที่มา : ข้อมูลไซเตสจากกรมวิชาการเกษตร
หนังสือกล้วยไม้ป่าเมืองไทย (Wild Orchid of Thailand) โดยสลิล สิทธิสัจจธรรม
..............................................